(ไม่) Forgotten: ในความทรงจำของเด็กมัธยมผู้สร้างละครเวที

Chayapatr Archiwaranguprok
8 min readMay 30, 2021

--

คุณจะเชื่อมั้ยถ้ามีคนบอกคุณว่าเด็กมัธยมไทยกลุ่มนึงอยากทำละครเวทีกัน พวกเค้าเลยเขียนบท แคสติ้ง ขอสปอนเซอร์ประสานงานต่าง ๆ แต่งเพลงแล้วเล่นสดกัน 3 ชั่วโมง กำกับ ซ้อมการแสดง ทำฉาก ทำสื่อ โปรโมท ขายบัตรลง ticketmelon แล้วจัดการแสดงที่หนึ่งในอดีตโรงหนังที่ดังที่สุดของประเทศกลางสยามสแควร์ คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม เรื่องนี้มันเพิ่งเป็นจริงแล้วเมื่อกี้นี้เอง

เรื่องเล่าจากทีมงานฝ่าย media คนนึงที่ดันจัดพัดจับผลูไปเป็นฝ่ายไอที คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ดีไซเนอร์ วิดิโกกราฟเฟอร์ ช่างภาพและตำแหน่งจับฉ่ายอีกหลายอย่าง

หมายเหตุ: Blog นี้เราเขียนครั้งแรกในช่วงประมาณเดือนหลังละครจบแต่พาร์ทสุดท้ายก็เขียนไม่เสร็จสักทีจนกระทั่งหายไปพักใหญ่ ๆ (ประมาณปีครึ่งได้) ตอนนี้ (เดือนพฤษภาคม 2564) ผมบังเอิญนึกขึ้นมาถึง Blog นี้ได้เลยอยากกับมาเขียนต่อให้จบ แต่ในขณะเดียวกันเรารู้สึกไม่อยากไปปะติดกับเรื่องราวที่เขียนขึ้นมาเมื่อเกือบสองปีที่แล้วจากที่มุมมองสองอย่างมันเป็นคนละแบบกันแล้ว เพราะฉะนั้นอะไรที่เป็นตัวที่เขียนเพิ่มใหม่จะทำเป็นตัวเอียงไว้นะฮะ

Prelude: หนึ่งปีครึ่งที่แล้ว (สามปีที่แล้ว)

31 พฤษภาคม 2561 ผมและปั๊นเพื่อนของผมได้นัดกันไปดูหนังรอบสุดท้ายของลิโด อดีตตำนานคู่สยามสแควร์ที่เราเชื่อว่ามันกำลังจะถูกปิดและทุบทิ้งไป เหลือทิ้งไว้เพียงความทรงจำ เราจองตั๋วเข้าไปดูหนังเรื่อง 45 Minutes from Hollywood ฉายคู่กับเรื่อง Sherlock Jr. เนื่องในเทศกาลหนังเงียบครั้งที่ 6 ของหอภาพยนตร์แห่งประเทศไทย

หนังเรื่องนี้เป็นหนังเรื่องสุดท้ายที่ได้ฉายในลิโดโรง 2 อันเป็นโรงแรกของลิโดที่ผมเคยดูเมื่อก่อนหน้านั้นและกลายมาเป็นโรงโปรดของผมในที่สุด เมื่อเครดิตโรลของ Sherlock Jr. ถูกเล่นจนจบ แสงไฟในโรงสว่างขึ้นทุกคนได้ถ่ายรูปในโรงหนังประดับด้วยไฟนีออนเล็ก ๆ แห่งนี้ เมื่อผมออกไปจากโรง ที่หน้าประตู เราได้พบกับคุณลุงสูทเหลืองต่อเรียงแถวกันขอบคุณคนดูเป็นครั้งสุดท้าย

แต่เรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก ๆ ก็ได้เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นานนัก ขณะที่ผมกำลังไถฟีดเฟสบุ๊กอยู่ ได้มีโพสต์ ๆ หนึ่งที่ดึงดูดผม… “จุฬาฯ ตัดสินใจเก็บตึกลิโดไว้ ให้ loveis เป็นคนรับผิดชอบรีโนเวทใหม่เป็น creative space กลางเมือง ภายใต้ชื่อ Lido Connect” พร้อมกับรูปกราฟิกเรนเดอร์สี่ห้ารูปของคอนเซปต์ใหม่ของอาคาร โรง 2 ออกแบบเพื่อใช้เป็นโรงหนังเหมือนเดิม วันนั้นผมตื่นเต้นมาก ๆ ที่จะรอวันเปิดของมัน และหวังว่าจะได้เข้าไปในโรง 2 อีกสักครั้งหนึ่ง

ภาพ Render ของลิโด้

“กูอยากทำละครเวทีหว่ะ”

ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา คำพูดข้างต้นเป็นคำพูดนึงที่ผมได้ยินเป็นระยะ ๆ จากปั๊นเพื่อนคนเดิมที่ไปดูหนังรอบสุดท้ายที่ลิโดกับผม แต่จุดสำคัญที่สุดจุดแรกได้ถูกก้าวข้ามไปเมื่อเขา อดีตนักข่าวเด็กและพิธีกรประจำของโรงเรียนคนนี้ตัดสินใจเริ่มชักชวนเพื่อน ๆ ที่รู้จักและฟอร์มทีมทำงานขึ้นมา

งานโรงเรียน ? งานนอกโรงเรียน ? ละครกับสาธิตปทุมวัน สายสัมพันธ์ที่ตัดไม่ขาดซะทีเดียว

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น จากการที่คนเกือบทั้งหมดที่ฟอร์มทีมกันตอนนั้นเป็นเพื่อน ๆ กันที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน โมเดลของโครงการจึงได้ถูกวางแผน ร่างและเสนอไปในฐานะของกิจกรรม ๆ หนึ่งของนักเรียน มีการตั้งคณะกรรมการและอาจารย์ที่ปรึกษาขึ้นมาจัดประชุมอยู่หลายรอบ มีการแก้ไขโครงการไปอยู่หลายรอบ (ซึ่งก็ใช้ระยะเวลาไปพอสมควร) แผนการจากการจัดละครมีการเปลี่ยนไปในบางเรื่องเป็นพัก ๆ แต่ขณะเดียวกัน ถึงแม้รูปแบบจะดูเหมือนกิจกรรมนักเรียน แต่โครงการนี้ก็ไม่ได้จัดขึ้นในนามของโรงเรียน ไม่สามารถใช้ตราโรงเรียนในการดำเนินการใด ๆ อย่างการขอสปอนเซอร์การหรือออกจดหมายขอบคุณ หัวกระดาษ/จดหมายจึงเป็นตราโครงการทั้งหมด

ละครเวทีเรื่องนี้เอามา arrange แผนใหม่เป็นโครงการ kornor on stage ​(กน. มาจากคำว่ากรรมการนักเรียนแต่ปรากฎว่าคนทำ 90% ไม่ได้เป็นกรรมการนักเรียน) ภายใต้โครงการใหญ่ชื่อ Tumwan for All เพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ ระดมทุนเพื่อนำไปทำโครงการจิตอาสาที่โรงเรียนในต่างจังหวัด

เดือนตุลาคม มีการจัดการบวงสรวงครั้งแรกขึ้นตามธรรมเนียมปฏิบัติ

บวงสรวงรอบแรก

my POV:

ปั๊นชวนผมมาเป็นรองประธานโครงการ ด้วยความที่ผมพอทำกราฟิกดีไซน์ได้บ้างจึงถูกส่งไปทำงานเป็นฝ่าย media โดยปริยาย ซึ่งงานแรกที่ทำก็ตราโครงการนี่แหละ ด้วยความที่โรงเรียนมีสัญลักษณ์อันนึงที่โดดเด่นคือยอดของตึก 1 โรงเรียนทรงประหลาด ๆ ก็เลยจับมายัดใส่วงกลมง่าย ๆ

Adobe XD มันไม่ได้ไว้ออกแบบกราฟิคไม่ใช่หรอ มันเอาไว้ทำ wireframe หนิ ? me: ก็มันฟรี! (ช่วงหลัง ๆ เลิกใช้โปรแกรมแครกอย่างเป็นทางการเพราะไม่ชอบ รู้สึกไม่โอเคแล้ว)

ตั้งไข่

ด้วยความที่โรงละครต้องจองล่วงหน้าเป็นเวลานานมาก ๆ ประเด็นนี้จึงถูก raise ขึ้นมาเป็นอย่างแรก ๆ โรงละครที่เราต้องการสะดวกต่อการเดินทาง+แกรนด์หรือเป็นที่รู้จักในระดับนึง จากการวางแผนจัดที่สยามพิฆเนศ สยามสแควร์วัน โดยวางแผนจะติดต่อขอจุฬาฯให้เป็นสปอนเซอร์โควต้าส่วนลดค่าโรงละครให้ ตามสัญญาของโรงละครกับจุฬาฯ ที่จุฬาฯ จะมีสิทธิได้โควต้าใช้โรงละครในราคาที่ลดลงปีละ x ครั้ง แต่ด้วยปัญหาในหลาย ๆ ประเด็นทำให้แผนการนี้ตกไป

ทีมงานไปดูโลเคชั่นสยามพิฆเนศ

ทางเลือกที่เข้ามาใหม่ตามคุณสมบัติเดิมที่เราต้องการ ก็คือลิโด้และห้องออดิทอเรียมของ bacc เราได้ลองศึกษาข้อมูลจากทั้งสองที่ บ่ายวันหนึ่ง ภายหลังการประชุมที่ห้องประชุมชั้น 10 ของโรงเรียน ปั๊นได้ลองโทรไปหาคุณเทพอาจ ผู้บริหารของ Lido Connect เพื่อสอบถามเกี่ยวกับโรงละคร และสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อคุณเทพอาจได้รู้ที่มาที่ไปของละครเวทีและตัดสินใจดำเนินการจัดการเพื่อสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับด้านสถานที่ให้

แล้วเราจะเอาทุนจากไหนมาทำละครเวที ? วิธีการแบบสิ้นคิดหน่อย ๆ ของเราก็คือทำกระเป๋าขายหาทุน แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนเป็นทุนทำกระเป๋า ? เราติดต่อสมาคมศิษย์เก่าและได้งบสนับสนุนค่าทำกระเป๋ามา

เมื่อเงินมาสิ่งที่ต้องมีก็คือฝ่ายบัญชี บัญชีโครงการถูกเปิดขึ้นในชื่อของอาจารย์ที่ปรึกษา+ประธานโครงการ (ปั๊น) +ฝ่ายบัญชีคนนึง ซึ่งการดำเนินการของบัญชีต้องเกิดขึ้นโดยความยินยอมของอย่างน้อย 2 ใน 3

my POV:

point 1 : ลายกระเป๋าผมไม่ได้เป็นคนออกแบบแต่เป็นคนลงเส้นใน illustrator ให้

point 2 : ด้วยความบ้า line bot+airtable ของตัวเองตอนนั้น ก็เลยทำ line bot เอาไว้ให้ฝ่ายบัญชีใช้ input ข้อมูลเข้าง่าย ๆ แทน excel

point 3 : เราอยากให้โครงการเวลาติดต่อกับข้างนอกดูดีเป็นทางการระดับนึง เราก็เลยซื้อโดเมน tumwanforall.com เพื่อที่จะเปลี่ยนท้าย email เป็น @tumwanforall.com โดยผมเป็นคน setting ให้ เราใช้ tumwanforall@gmail.com เป็น base เราใช้ mailgun เป็น mail forwarding service และ setting แบบง่าย ๆ เพื่อให้ส่งเมลลงท้ายด้วย tumwanforall ได้ (จนถึงตอนนี้ก็ลืมวิธีทำไปแล้วครับ555)

Finding Sponsors

งานของเราเป็นงานไร้ทุน (ฮา) เราไม่เหมือนละครเวทีทั่วไปที่เป็นบริษัทพอมีเงินอยู่ (หรือกู้มา) แล้วจัดละครเวทีตามนั้นเพื่อหากำไร+หาทุนไปจัดเรื่องอื่นต่อไป สิ่งนึงที่ยากสำหรับเราคือเราเริ่มจาก 0 เราไม่มีเงิน เราไม่มีผลงานเก่า ๆ และเครดิต หรือเราไม่สามารถกู้เงินได้

ทำให้ต้องสารภาพระดับนึงว่าสิ่งที่เรายังสู้กับงานด้านนอกจริง ๆ ไม่ได้อย่างนึงคือ เรายังต้องพึ่งคอนเนคชั่นกับคนที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนในระดับนึง ด้วยความที่งานของเราเป็นงานแรกของเรา/เป็นงานเด็กมัธยม no name กลุ่มนึง ทำให้การไปขอข้างนอกที่ไม่รู้จักเราเลยมีความน่าเชื่อถือที่ค่อนข้างต่ำ target สปอนเซอร์แรก ๆ ของเราจึงมักจะมีความเกี่ยวข้องกับโรงเรียนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

แต่ถึงกระนั้นเราก็ใช้วิธีอย่างเป็นทางการตามที่องค์กรด้านนอกทำกันจริง ๆ เราร่าง proposal ทั้งอธิบายโครงการ จุดประสงค์ และสิ่งที่ผู้สนับสนุนจะได้รับเป็นระบบให้ชัดเจน เราเปิดเผยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเป็น public ทั้งหมดเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ จนเริ่มขอสปอนเซอร์รายย่อยในวันคืนสู่เหย้าของโรงเรียน (ซึ่งถึงแม้จะได้มาไม่มากแต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี)

Nubdao syndrome / #เด็กใหม่นี่ใครวะ

สิ่งนึงที่เราได้จากโรงเรียนคือสถานที่ซ้อม

ตัวละครเริ่มดำเนินการเขียนบทและแคสติ้งกันในช่วงปลายปี มีการแก้บทละครอยู่หลายรอบ ตั้งแต่การแก้ในจุดเล็ก ๆ ถึงการรื้อบทใหม่ทั้งหมด แต่ในทุก ๆ ครั้ง เราตั้งอยู่บนพื้นฐานเดียวกันว่า เราอยากสร้างละครที่เด็กเล่นเป็นเด็กจริง ๆ ไม่ใช่เด็กเล่นเป็นผู้ใหญ่ เราอยากทำให้ละครของเราออกมาเป็นละครที่ดีที่สุดในเวอร์ชั่นของเรา ไม่ใช่ละครที่เป็นเหมือนละครย่อขนาดของละครที่ผู้ใหญ่แสดงอีกที

บทละครของเราตั้งใจที่จะสะท้อนกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสมัยนี้จริง ๆ อย่างในเวอร์ขั่นแรกของละคร (Nubdao syndrome/#เด็กใหม่นี่ใครวะ <- ชื่อยังไม่ลงตัว) เนื้อเรื่องของเราผูกกับเรื่องนับดาว เด็กธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่โดน bully ในสังคมโรงเรียนจนกระทั่งย้ายโรงเรียนไป

ในช่วงเวลานี้ เราเริ่มได้รู้จักกับคนที่ทำละครเวทีจริง ๆ หรือรุ่นพี่ที่จบไปที่ได้ข่าวการมีอยู่ของโครงการนี้จากการที่พวกเขาเริ่มติดต่ออาสามาเป็น consultant ให้ ก็ทำให้เราได้เรียนรู้การทำงานหลาย ๆ อย่างเพิ่มเติมมากขึ้น

โครงการเริ่มทำการซ้อมละครไปเรื่อย ๆ ควบคู่กับฝ่ายอื่นที่ทำงานหน้าที่ของตัวเอง จนถึง ณ จุด ๆ นึงที่เราเริ่มรู้สึกว่าบทมันควรดีกว่านี้ได้ เราก็ตัดสินใจชำแหละบทใหม่

my POV:

คอนเซปต์อาร์ต / moodboard เวอร์ชั่นแรก ๆ ของละคร (ถ้าสังเกตจะเห็นว่าบัตรยังเขียนว่าแสดงที่สยามพิฆเนศอยู่เลย)

ก็อย่างที่บอกโครงการเริ่มทำการซ้อมละครไปเรื่อย ๆ ควบคู่กับฝ่ายอื่นที่ทำงานหน้าที่ของตัวเอง เราได้เริ่มทำงานด้านการออกแบบโครงการไปเรื่อย ๆ จนถึงตอนที่รื้อใหม่ ทุกฝ่ายก็เลยเริ่มทำใหม่ทั้งหมด ตอนนั้นทีมก็มีเดียใหญ่ขึ้น เพื่อน/รุ่นน้องรวม 3 คนเข้ามาเป็นทีมมีเดียด้วยกัน

เร่งเครื่อง

จุดที่โครงการเริ่ม stable แล้ว งานทุกอย่างก็เลยต้องเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น โครงบทละครใหม่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กผู้ชายที่ขอพรเพื่อให้ตัวเองได้เป็นประธานนักเรียนแลกกับของสำคัญในชีวิต 5 อย่าง ภายใต้ชื่อ “Forgotten เพื่อแก… เรายอมโดนลืม”

สิ่งที่มีคนบอกผมคือ ทีม consultant เมื่อได้ยินเรื่องนี้ก็รู้สึกสนใจมากเพราะเป็นประเด็นที่ไม่ได้สะท้อนแค่เด็ก แต่สะท้อนถึงสังคมในระดับใหญ่ หลายคนเห็นว่ามีหลาย ๆ จังหวะที่การจะได้มาซึ่งความสำเร็จเราจะสูญเสียความสัมพันธ์บางอย่างไป เป็นจุดที่หลาย ๆ คนเลือกเส้นทางที่แตกต่างกันออกไป

ดราฟรอบแรกของตั๋วละครโดยก้องจากทีมประสานงาน (เป็นครั้งแรกที่มีการลองใส่ชื่อเรื่อง — ซึ่งก็ใช้ต่อมาเรื่อย ๆ แต่มีการปรับปรุงฟอนต์) และโปสเตอร์จากนีน่าทีม media ในช่วงไม่กี่วันหลังจากนั้น จากภาพเซ็ตแรกของตงตงจากชมรมถ่ายภาพ

my POV:

หน้าที่ของผมในช่วงนั้นคือการเริ่มถ่ายรูปแต่ละตัวละครเพื่อเอามาทำ asset โปรโมท ความเหนื่อยเกิดจากการประสานงานให้ทุกฝ่ายทำงานให้ทันกัน ฝ่ายคอสตูมช่วงนั้นยังจัดการเรื่องเสื้อผ้าไม่เสร็จเรียบร้อยดี ประกอบกับนักแสดงบางคนไปแข่งกีฬาของกีฬาสาธิต ทำให้งานมันต้องเลื่อนไปเกินกว่ากำหนด กว่าจะถ่ายได้ก็ค่อนข้างกระชั้นชิดกับหยุดปีใหม่ระดับนึงเลย หรือก็มีบางคนที่ต้องเลื่อนไปถ่ายหลังปีใหม่เลย

Photoshooting

ดราฟโปสเตอร์ที่ทำหลังถ่ายโปสเตอร์เสร็จและภาพเบื้องหลังของมินที่แสดงเป็นนางเอก เป็นรูปที่หลายคนชอบมาก ๆ แต่ไม่ได้เอาไปใช้จริงเพราะหลุดโทน

การถ่ายโปสเตอร์ทีมเราใช้ช่างภาพ 3 คนถ่ายกันในห้องมืดของโรงเรียน ใช้เวลาถ่ายรวมกันประมาณเกือบอาทิตย์ในการถ่ายตัวละครประมาณ 20 ตัว แม้ตัวละครที่เราถ่ายแต่ละวันจะเป็นคนละเซตกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือฝ่ายคอสตูมที่มาช่วยกัดการเรื่องเสื้อผ้า และทีมกำกับ/อำนวยการสร้างที่มาออกแบบท่าทางและบิ้วนักแสดง

ช่วงวันที่ถ่ายรูปนี้เป็นวันที่เราเครียดมากที่สุดช่วงนึงของงานนี้เลยก็ว่าได้ ด้วยความที่มันเป็นวันที่ต้องดีลกับคนอื่นในช่วง Time span ที่จำกัดมาก ๆ ต่างจากงานอื่นที่มีแค่ Deadline ที่เราสามารถควบคุมได้เองเกือบทั้งหมด ประกอบกับการที่เป็นงานถ่ายภาพคนใน Studio ครั้งแรกของตัวเองด้วย

ในเชิงเทคนิคแล้วเราใช้ Olympus OM-D EM-10 ประกบ summilux 15mm f/1.7 มาถ่ายเป็นกล้องหลัก ซึ่งผลลัพธ์ก็ออกมาค่อนข้างน่าพอใจที่ภาพมีความคม แต่ขณะเดียวกันก็ออกมาดูไม่ได้แข็งจนเกินไป

งานจัดแสงภาพหมู่ที่เราคิดว่าไม่ค่อยดี (หรือไม่ดีเลยก็ได้55) ภาพแบนมาก ๆ จนขาดมิติ ประกอบกับแสงด้านหน้าหลังไม่เสมอกันเท่าที่ควร

สิ่งที่ผิดพลาดมากที่สุดน่าจะคือการเซ็ตแสงของการถ่ายรูปหมู่ที่เซ็ตแสงได้ไม่ค่อยดีเท่าที่ควรทำให้ Shadow เยอะเกินไปมาก และการเซ็ตคิวที่มีการถ่ายหมู่กับเดียวสลับกันค่อนข้างเยอะทำให้ต้องมีการเปลี่ยนตำแหน่ง Studio Light อยู่หลายรอบ จนส่วนตัวคิดว่ามีปัญหาเรื่อง inconsistency ของแสงอยู่ประมาณหนึ่ง

น่าเสียดายที่ภาพเกือบทั้งหมดได้หายไปแล้วเนื่องจากคอมที่เราใช้เก็บภาพพัง และช่วงนั้นเราทำ Harddisk หายจนไม่ได้แบคอัพข้อมูลเก็บไว้เลย สิ่งที่พอจะโชคดีอยู่บ้างคือภาพที่ Process เอาไว้ส่วนใหญ่ได้อัพขึ้น iCloud ไว้ทำให้ยังพอมีอนุสรณ์ความทรงจำเก็บไว้บ้าง

แพร ซึ่งเป็น Producer ของงาน และน่าจะเรียกได้ว่ามีประสบการณ์ Photoshoot สูงสุดในทีมงาน บิ้วตาม พระเอกของเรื่องก่อนถ่าย บรีฟของตามคืออยากได้แววตาที่อินที่สุดที่เป็นไปได้ เราถ่ายรูปตามไปสองรอบ ในรอบแรกฟีดแบคที่ได้คือ Mood ยังไปไม่ถึง ทำให้ต้องถ่ายซ่อมอีกรอบหนึ่ง โดยในรอบนี้แพรได้คุยกับตามนานมากก่อนถ่าย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจจนเราเห็นภาพแล้วแทบจะร้องไห้ไปด้วย ซึ่งจนถึงตอนนี้เราก็ไม่รู่ว่าแพรบรีฟอะไรตามไป และเรื่องนี้ก็คงเป็นความลับต่อไป

ปลายเดือนธันวาคม

มีทีมงานส่วนนึงที่ติดต่อขอไปเล่นเปิดหมวกที่ลิโด้ในวันที่ 30 ธันวาคม ซึ่งนักดนตรีของเราในครั้งนี้ก็คือนักแสดงและฝ่ายดนตรีของละครเวทีเรานั่นเอง จุดประสงค์หลักของการแสดงครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อการหารายได้ (ถึงยังไงก็ไม่ได้เยอะอยู่แล้ว) แต่คือการประชาสัมพันธ์โครงการอย่างเป็นทางการออกไปสู่ภายนอกครั้งแรก ๆ

my POV:

ผมเบิกเงินโครงการซื้อ Adobe Creative Cloud ในวันที่ 29 ธันวาคม 2560 แล้วก็ได้ full script มาในวันเดียวกัน พออ่านไปก็ขัดใจอะไรอยู่นิด ๆ หน่อย ๆ เลยทักหาปั๊นคุยเรื่องแก้บทบางส่วน

อีกส่วนที่ทีม media ทำคือร่าง Text ที่ใช้ในการโปรโมทพวกเรื่องย่อและคำโปรยให้กับละคร ซึ่งเมื่อส่งงานไปทีม producer ก็กังวลว่ามันอาจจะสปอยล์มากไปหน่อยนึง (บอกว่าต้องแลกพรหนึ่งข้อกับของ 5 อย่าง) ก็เลยทักไปเรื่องชื่อเรื่องว่าถ้าเรื่องย่อที่เขียนมามันสปอยล์เกินไป ชื่อละครก็น่าจะแก้นะเพราะอันนี้แทบจะสปอยล์ยันท้ายเรื่องเลย

“ต้องเสียบางสิ่ง เพื่อให้ได้บางอย่าง”

หมอก เด็กหนุ่มขี้แพ้ในโรงเรียนมัธยมชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศ ต้องการจะเป็นที่ยอมรับของคนรอบข้างและมีตัวตนในสังคมโรงเรียน เขาได้ลองไปขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลึกลับในโรงเรียนที่เคยได้ยินจากเรื่องเล่าของกลุ่มเพื่อนสนิท ก่อนที่จะได้พบว่า อำนาจวิเศษเพื่อตอบสนองความปราถนาของเขา ไม่มีทางจะได้มาโดยไม่มีการสูญเสียสิ่งใด ๆ

เวอรชั่นไฟนอลเป็นตามนี้:

Forgotten หันกลับไป… ไม่เหมือนเดิม

ละครเวทีที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มเด็กนักเรียนมัธยมเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง เพื่อจุดประกายบางสิ่งและสร้างอะไรบางอย่างให้กับสังคม แม้จะเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ จุดหนึ่ง รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากละครเวทีจะถูกนำไปจัดกิจกรรมจิตอาสาและบริจาคให้กับโรงเรียนในถิ่นห่างไกล

เปิดการแสดง 2 รอบ วันที่ 24 และ 25 มกราคม 2563

Theater 2, Lido Connect

ราคาบัตร 300 และ 350 บาท (ไม่รวมค่าธรรมเนียมจากการสำรองที่นั่งออนไลน์)

ไม่กี่วันถัดมาปั๊นไลน์มาบอกว่าเปลี่ยนชื่อไทยเรื่องจาก “เพื่อแก… เรายอมโดนลืม” เป็น “หันกลับไป… ไม่เหมือนเดิม”

โปสเตอร์แบบงานเนี๊ยบ (มากพอที่อาจจะเอาไปใช้จริงได้) ครั้งแรกเกิดขึ้นมาในวันที่ 31 มกราคมก่อนที่จะมีการแก้มาเรื่อย ๆ จนถึงช่วงมกราคมปีหน้า

โปสเตอร์เวอร์ชั่น 30 ธันวาคม

เรื่อง component ที่ใช้ในงานออกแบบก็ซีเรียสมากยิ่งขึ้นมาก ๆ โชคดีที่เดี๋ยวนี้ Adobe มีคอลเลคชั่น Font ให้เลือกใช้ได้ เลยทำงานง่ายขึ้น

ท้ายที่สุดแล้ว เราได้เปลี่ยนฟอนต์ Adobe Caslon Pro Bold กับ Google font ชื่อ Athiti ใน Draft แรก ไปเป็น Adobe Caslon Pro Regular กับเปลี่ยนภาษาไทยเป็น IBM Plex Thai แล้วใช้ต่อมาจนจบงาน

ช่วงนั้นเป็นช่วงหลังจากที่เราเพิ่งดู The Lighthouse มาและตื่นตาตื่นใจกับงาน Visual/Graphic ของมันมาก ๆ จนเรียกได้ว่าเราเชื่อว่างานของเรางานนี้ได้รับแรงบันดาลจาก The Lighthouse มาไม่มากก็น้อยโดยที่เราไม่รู้ตัว (อาจจะสังเกตจาก โปสเตอร์อันแรกได้)

Version Adobe Caslon Pro Bold + Athiti กับ Version Adobe Caslon Pro Regular + IBM Plex Thai

มกราคม 2563

พอหลังวันหยุดพักผ่อนปีใหม่ ทุก ๆ เรื่องรอบตัวก็ดูวุ่นวายไปหมดตั้งแต่เรื่องข่าวสงคราม ข่าวภัยพิบัติทั่วโลก ข่าวฝุ่น pm2.5 ที่กลับมาอีกระลอก ในขณะเดียวนั้นละครเวทีก็วุ่นวายไม่แพ้กัน ทุกคนเริ่มไฟลุกมาก ๆ (ฮา)

เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้

วันที่ 5 มกราคม (วันอาทิตย์) รุ่นพี่จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬา ได้ชวนทีมงานจัดละครเวทีไปดูละครเวทีประจำปีของคณะเรื่องเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้

สำหรับเราวันนี้มันมีประเด็นสำคัญสองอย่าง อย่างแรกคือเรารู้สึกว่ามันช่วย Drive eager ของคนทำละครมาก ๆ เราเคยดูละครถาปัดอยู่รอบนึงคือตอน Sherlock Holmes เมื่อประมาณหลายปีก่อน ซึ่งมันเป็นละครเวทีเรื่องแรก ๆ ที่เราดูเลย พอมาดูเรื่องเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ครั้งนี้มันเหมือนได้ย้อนประสบการณ์กลับไปเมื่อตอนนั้นอีกรอบ ฉากที่คณะสถาปัตย์ทำยังคงอลังการเหมือนเดิม (ซึ่งเป็นโชคดีมาก ๆ ที่เราได้มีโอกาสขึ้นไปดูแบบละเอียด ๆ ถึงบนเวทีด้วย)

และอย่างที่สองคือคนที่ไปดูแต่ละฝ่ายได้ Consult ดี ๆ จากทีมที่จัดละครถาปัดด้วย อย่างทีม Media ที่เราทำ ก็ได้ตั้งเป้าหมายไปดู Flow ของระบบ Register ที่ใช้กัน รวถึงไปดูพวกวิธีการงาน CI เพิ่มเติมที่คิดว่าน่าจะเอามาปรับปรุงกับละครเราได้ (ซึ่งสุดท้ายเราก็ใช้ Ticket Melon ซึ่งเดี๋ยวจะได้พูดถึงอีกใน Section ถัด ๆ ไป)

ฝ่ายดนตรี

เพลงที่เราใช้มีอยู่ 2 แหล่ง, หนึ่งคือเพลงที่ได้รับความอนุเคราะห์จาก loveis ให้ใช้เพลงได้และอีกส่วนคือเพลงที่ฝ่ายดนตรีแต่งกันเอง การแสดงของเรา Intention อยากให้มีความเป็น Musical หน่อย ๆ เราเลยเลือกที่จะบรรเลงเพลงสดกันเลย (ยกเว้น Percussion กับเพลงบางส่วนที่อัดแยกไว้เพื่อความสะดวกและตัดปัญหาที่จะเกิดขึ้นหลาย ๆ อย่าง)

ท่อน Intro ของเพลงประจำโรงเรียนมัธยมไมตรีมิตร composed by ทีมดนตรีคุณภาพของเราเองง

และแรงบันดาลใจแบบลับ ๆ ของทีมงานก็คือละครเวทีเรื่องบัลลังก์เมฆ ที่ใครไม่รู้ในกองเริ่ม แล้วหลังจากนั้นทุกคนก็เริ่มไปดู (มันมี version lady of the stage ที่เค้าเอา 3 เรื่องคือบัลลังก์เมฆ ทวิภพ ข้างหลังภาพ มาย่อเป็นเรื่องละชั่วโมง ลงอยู่ใน Youtube) แล้วก็ติดกัน

ปานเทพ: ผมขอลาออก จากทุกตำแหน่ง

Spoiler Alert: จนถึงตอนเดือนกุมภาพันธ์หลังละครจบผมยังเห็นฝ่ายดนตรีนัดนักแสดงกลับมาอัดเสียงเตรียมทำ OST ขายอยู่เลย

Spoler Alert: จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ขาย และไม่น่าจะได้ขายแล้ว55

ทีมดนตรี (โดยเฉพาะคมชัดที่เป็น Music Director) เป็นทีมที่เราคุยด้วยบ่อยมากทั้ง ๆ ที่งานไม่ได้คาบเกี่ยวกันเท่าไหร่เลย แต่อาจจะเป็นเพราะ Mood ในการทำงานมันค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก โดยเฉพาะฟีลความเป็น Working horse ของเรากับคมชัดที่มันคล้าย ๆ กัน

ฝ่ายฉาก (a.k.a ศิลปกรรม)

ในวันที่เราได้ไปดูงานจากละครถาปัดจุฬา ฝ่ายฉากได้ไปคุยกับทีมงานฝ่ายฉากของละครถาปัด และได้คำแนะนำเกี่ยวกับแหล่งหาซื้อวัสดุราคาถูกและการทำงานมา คำพูดที่ตราตรึงมาจนถึงตอนนี้ “น้อง น้องหาคนเพิ่มเถอะ เดี๋ยวตายก่อนงานเสร็จ” หลังจากนั้นจึงมีการหาทีมงานเพิ่มพร้อมกับฝ่ายแสงเสียงบางส่วนที่ยังไม่ได้ทำอะไรมากก็ยื่นมือเข้ามาช่วยอีกแรง

ฝ่ายฉาก

ในทุก ๆ วันของช่วงเดือนมกราคมสิ่งที่เราเห็นตอนกลับบ้านคือฝ่ายฉากที่ทำงานกับถึงดึก ๆ ดื่น ๆ ทุกวัน แต่ในขณะเดียวกันเราก็พอโล่งใจขึ้น (บ้าง) ที่เห็นคนทยอยเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จนงานเดินเร็วขึ้น

ฝ่ายแสงเสียง

ช่วงนี้ผมเริ่มเห็นฝ่ายเวทีที่ห้องซ้อมบ่อยขึ้น ทีมงานของเค้าเริ่มทำการจดบล็อคกิ้งต่าง ๆ ของนักแสดงเป็นฉาก ๆ เอาไปใส่ในสคริปต์แสงที่เค้าทำขึ้นมาเพื่อเอาไปออกแบบไฟบนเวที ซึ่งก็ต้องโคกับทีมงานเวที

ฝ่ายเวที

งานของฝ่ายเวทีเท่าที่เห็นมีอยู่สองอย่างหลัก ๆ คือเซ็ตอัพเวทีวันจริงกับเป็นคนขนย้ายของในวัน/ช่วงแสดง งานเซ็ตอัพเวทีทางเราได้ไปคุยกับลิโด้เพื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการทำม่านและไฟ (ด้วยความที่เป็นโรงเปล่าโล่ง ๆ เลย มีแค่ชั้นเป็นขั้นบันไดที่เหมือนออกแบบไว้วางเก้าอี้ผู้ชม) และได้เห็นว่าบนเพดานมีราวเหล็กที่ใช้แขวนได้ในระยะ 7 เมตรจากผนังฝั่งผู้แสดง

ในภาพอาจจะไม่เห็นเท่าไหร่ แต่จริง ๆ ทั้งสองข้างมีม่านกั้นอยู่ และอีกโบราณวัตถุที่สำคัญมากคือต้นไม้ (เขียว ๆ อันด้านซ้ายของภาพ) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมศิลปกรรมใช้เวลาทำมากที่สุด

เราไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับฝ่ายเวทีมากนัก แต่สุดท้ายแล้ว Outcome ที่ได้เราได้เห็นผ้าม่านดำ (ติดไฟ) ที่โคตรสวยออกมา ซึ่งนอกจากเป็นตัวกั้นระหว่างเซ็ตอัพหลังเวทีแล้วสุดท้ายยังได้มาใช้ประกอบฉากด้วย

ส่วนเวทีสุดท้ายแล้วไม่ได้ยกพื้นขึ้น ใช้เป็นหลุมตรงกลางด้านหน้าเลย จากหลาย ๆ เหตุผลทั้งในแง่ของการดู (ถ้าเข้าใจไม่ผิดการยกเวทีจะทำให้ต้องลดเก้าอี้ไปแถว-สองแถว) และแง่อารมณ์ให้ผู้ชมได้ใกล้ชิดมากขึ้น

จริง ๆ ที่เล่ามายังไม่ครบทุกฝ่ายที่ก็เชื่อได้ว่าทำงานกันอย่างหนักหน่วงไม่แพ้กัน แต่ผมคงลงรายละเอียดมากไม่ได้เพราะผมไม่ได้รู้เรื่องราวของพวกเขามากนัก

สิ่งที่ไม่สำเร็จ: One Day Visit

ตอนแรกเราวางแผนกันว่าอยากจะทำโครงการเล็ก ๆ จัดกิจกรรมให้น้อง ๆ ที่สนใจเข้ามาดู process การทำงานวันนึง ซึ่งวางเอาไว้ว่าเป็นต้นเดือนมกราคม เราลองวางแผนกิจกรรมกันว่าจะทำไอะไรบ้าง แล้วแบ่งให้แต่ละฝ่ายจัดการคิดกิจกรรมเป็นฐานวน แต่สุดท้ายด้วยเวลาที่กระชั้นชิดจนประชาสัมพันธ์ไม่ทันโครงการเล็ก ๆ นี้ก็เลยเป็นอันยกเลิกไป

ผนังของ Skyhall ของโรงเรียนที่เป็นที่ ๆ เหมือนเป็นสำนักงานที่การดำเนินงานละครเรื่องนี้เกิดขึ้น โดยกั้นผนังออกเป็นสองด้าน ด้านใหญ่ไว้เป็นที่ซ้อม/Workshop ของฝั่งการแสดง และด้านเล็กไว้เป็นที่ประชุม/ทำงานของฝั่งอื่น ๆ ผมถ่ายรูปนี้เล่น ๆ ในช่วงพระอาทิตย์ตกวันหนึ่งหลังจากที่ทุกคนประชุมใหญ่กันเสร็จ

Note: Hidden Agenda อีกอย่างของงานนี้ที่หายไปคือการสร้างแรงบันดาลใจ (หลอกล่อ) ให้รุ่นน้องมีแรงบันดาลใจอยากลองมาลงมือทำอะไรที่อยู่นอกห้องเรียนเพิ่ม ได้ลองไกด์และสร้างความสัมพันธ์เพื่อที่ถ้าหากมีโอกาสจะได้มาช่วยเหลือได้ ก็น่าเสียดายที่ไม่ได้จัดเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่ก็ได้ดีไซน์กิจกรรมเอาไว้แล้วหลายส่วน

my POV:

ไวนิล

เรื่องโปสเตอร์มีอันต้องชะงักเมื่องานใหญ่งานใหม่ที่ค่อนข้างสำคัญกว่าเข้ามา ไวนิลสำหรับขึงที่โรงเรียน 3 จุด (ได้ที่แปะมาจากสมาคมผู้ปกครอง) คือที่หน้าโรงเรียน ที่จอดรถ และหน้าอาคาร 5 ของโรงเรียน

ตามตรงแล้ว เรามี Asset ให้ใช้น้อยมาก คือนอกจากที่ถ่าย Photoshoot กันก็แทบไม่มีอะไรเลย งาน Design ส่วนใหญ่จริงเป็นการ Compose พวกรูปถ่ายพื้นดำที่ถ่ายมาเป็นส่วนใหญ่ เป็นครั้งแรก ๆ ที่เราได้ใช้ Photoshop จริง ๆ จัง ๆ จากที่ปกติเราใช้แต่ Illustrator (เพราะแทบไม่ได้ทำงานกับภาพถ่ายเลย)

ขนาดของไวนิลที่ต้องทำคือ 4 เมตร * 3 เมตร และ 1 เมตร * 5 เมตรอย่างละอัน ซึ่งแต่ละอันก็เป็นการจัดการกับภาพความละเอียดสูงประมาณ 10 ภาพพร้อมกันในไฟล์เดียวทำให้เป็นงานที่คอมค้างหนักมาก

สุดท้ายแล้ว ไวนิล (ที่ note ของงานคือ ขอเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้) ก็เสร็จในสองวันช่วงเสาร์อาทิตย์ งานก็ได้พิมพ์และมาติดตั้งในช่วงอาทิตย์ต่อมา ซึ่งก็แน่นอนว่าทีมงานเห่อกันมากขนาดโดดเรียนไปนั่งดูเค้าติดไวนิลกัน

Ticketmelon

แล้วเราจะขายตั๋วยังไงหล่ะ ? จากตอนประชุมกันครั้งแรก ๆ เราอยากจะขายทางออนไลน์แต่เมื่อเห็น service charge จากระบบขายตั๋วออนไลน์แต่ละเว็บก็ทำให้เรากุมขมับระดับนึง มันมีสองทางเลือกคือ service charge แบบเข้าเนื้อ (สมมติขายบัตร 100 บาท คนซื้อจ่าย 100 เราได้ 85) กับแบบให้ผู้ซื้อจ่าย (ราคาบัตร 100 ผู้ซื้อจ่าย 115 เราได้ 100)

วิธีแรกก็ด้วยความที่เราเป็นโครงการจิตอาสา ทำให้ทุกบาททุกสตางค์มีค่าสำหรับเรา แต่ถ้าจะเลือกแบบที่สองเราก็รู้สึกผิดถ้าจะให้คนซื้อจ่ายเอง (ยิ่งตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเรากดบล็อคที่นั่งได้รึเปล่า เพราะวางแผนจะเปิดขาย offline ด้วย -> รู้สึกว่าจะทำให้ผู้ซื้อไม่โอเคถ้ามาซื้อ offline แล้วยังต้องเสีย service charge อีก) ตอนนั้นเราจึงตัดสินใจจะขายบัตรแบบออฟไลน์ คู่กับการจองผ่านโทรศัพท์และ direct instagram และทำใจเรื่องความไม่ค่อยเป็นทางการเท่าไหร่

จนหลังจากที่เราได้ไปดูเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ทีมมีเดียเห็นว่าเค้าได้ใช้ ticketmelon ในการขายจึงเข้าไปสอบถามขอคำปรึกษา ทำให้เราได้รู้ว่า ticketmelon บล็อคซีทสำหรับออฟไลน์ได้ + ที่ช็อคกว่านั้น เค้าทำ seatmap ให้!

ในวันถัดมา (วันจันทร์) เราจึงเริ่มติดต่อไปที่ ticketmelon อย่างเร็วที่สุดที่เป็นไปได้ด้วยแผนการที่เราจะเปิดขายบัตรในวันศุกร์ และฝากให้ปอนด์ เพื่อนในทีมเป็นคนดูแลเรื่องนี้ให้ จนวันพุธ ปอนด์บอกว่าเค้าทักมาประมาณเที่ยงคืนเมื่อคืนว่า Seatmap เสร็จแล้ว เตรียมเปิดขายได้เลย

https://www.ticketmelon.com/kornoronstage/forgotten

Backdrop

Backdrop ที่ว่าคือ Backdrop ขนาด 3*2 ที่ตั้งอยู่หน้าทางเข้าซึ่งก็คงสังเกตกันได้ว่ามันก็คือการ Rearrange ภาพที่ใช้ใน Vinyl ใหม่ งานนี้ก็เรียกว่าเผาเช่นกัน (เช่นเดียวกับทุกงานเพราะไม่มีงานไหนไม่เผา) เช่นเคย note ที่ได้คือขอเร็วที่สุดที่เป็นไปได้ ทำให้งานนี้เสร็จในเย็นวันหนึ่งช่วงประมาณ 6 โมงเย็น — ทุ่มนึงในห้องเรียนที่โรงเรียน (ตอนนั้นมีปอนด์นั่งปั่น Graphic ทำ Seatmap ให้ไปพร้อมกัน) ซึ่งพอเสร็จแล้วลงมาจากอาคารเรียนก็พบว่าประตูทางลงปิดแล้วจนต้องปีนบันไดของตึกออกมา แล้วขอให้คนที่ผ่านไปผ่านมาอยู่ด้านล่างซ้อนเก้าอี้ไว้ให้ให้เอาขาลงได้

Instagram

โซเชียลมีเดียที่เราเดียวที่เราทำคือ instagram เหตุผลหลักคือเราทีมงานไม่พอ เหตุผลรองคือจากการสำรวจ Target group เราเล่น Instragram มากกว่า ซึ่งตอนแรกเราก็วางแผนไว้อย่างดิบดีว่าจะลงอะไรบ้าง แต่ท้ายที่สุดด้วยงานที่ทับเข้ามาเรื่อย ๆ ทีมงานสื่อก็ทำไม่ทันได้ทั้งหมด (; — ;)

https://www.instagram.com/p/B7sL09GpYiC/

เป็นที่โล่งใจอย่างหนึ่งคือตั๋วขายได้เรื่อย ๆ จนคาดการณ์ว่าจะหมดถึงแม้ไม่มีการลงโปรโมทเพิ่มเติม แต่สุดท้ายทีมก็ตัดสินใจที่จะทำคอนเทนต์อยู่ดี เพราะจุดประสงค์ไม่ใช่แค่เพื่อประชาสัมพันธ์ขายของแต่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าอยากเก็บไว้เป็นความทรงจำ/ที่ระลึก

โพสต์ที่ทำลง Instagram เป็นการแนะนำตัวละครทีละตัวซึ่งจะลงอย่างละวัน แต่สุดท้ายก็ทำไม่ครบเพราะขาดพระเอกนางเอกไป (ซึ่งก็ลงเป็นโพสต์ Sold Out แทน) และตัวละครรูปปั้นทั้งสองในเรื่อง ซึ่งก็แก้ไข (ง้อ) ด้วยการใช้เป็นโปสเตอร์ใหญ่สองอันหน้าโรงแทน

สูจิบัตร

ภาพของหน้าปกสูจิบัตร พาร์ทที่ใช้เวลาทำนานที่สุดในเล่มเพราะตัดสินใจเลือกไม่ได้ว่าจะทำมันอย่างไร สุดท้ายแล้วเราตัดสินใจที่จะใช้ภาพพระอาทิตย์ตกจาก Skyhall (รูปเดียวกับที่เห็นใน Section ก่อนหน้า) เป็น Element สำคัญของปก คู่กับ Text คำว่าไมตรีมิตรอนุสรณ์ จากชื่อของโรงเรียนไมตรีมิตรในโรงเรียน เป็นตัวแทนถึงความทรงจำของทุกคนที่ร่วมทำโปรเจกต์นี้ด้วยกัน แต่ในขณะเดียวกัน ภาพก็ให้อารมณ์เว้งว้างตามคอนเซปต์ของเนื้อเรื่องได้ด้วย

งานที่ผมว่าหนักที่สุดในของผมในละครเรื่องนี้คือสูจิบัตรงาน ทั้งแต่การถ่ายรูปที่เราต้องนัดรวมตัวแต่ละฝ่ายให้ได้ครบ ในวันที่แสงกำลังโอเค การรวบรวมรายชื่อที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทั้งคนมาเพิ่มแล้วก็คนออก จนถึงการสัมภาษณ์แต่ละฝ่าย (เป็นความต้องการส่วนตัวที่อยากจะทำสูจิบัตรให้เป็นความทรงจำร่วมกันไม่ใช่แค่หนังสือรุ่นรวมภาพและชื่อ)

ธีมสีที่คิดไว้อย่างง่าย ๆ คือ เราถ่ายนัดแสดงในห้องดำ เป็นโทนสีดำ เราก็เลยอยากถ่ายทีมงานเป็นโทนขาว ทีม media นัดให้ทีมงานใส่เสื้อเป็นโทนสีขาวแล้วถ่ายในช่วงตอนเย็นของแต่ละวัน เราได้แจกจ่ายงานกันคือให้เพื่อนในทีมถ่ายรูป ผมแต่งภาพและทำเล่ม และทุกคนช่วยกันสัมภาษณ์

หนึ่งในสองภาพของทีมศิลปกรรม

แต่สิ่งที่ผิดพลาดคือด้วยเวลาที่กระชั้นชิด เราปรู๊ฟสีไม่ทัน ถึงแม้ผมเร่งแสงทุกอย่างให้สว่างขึ้นแล้ว แต่หมึกพิมพ์ก็ยังทำหน้าทีมงานดำอยู่ดี อย่างที่สองคือจดหมายสปอนเซอร์จากทีมประสานงานผิดทำให้สปอนเซอร์เงิน 10,000 บาทขึ้นไปจากครึ่งหน้าเป็นเต็มหน้า แต่ในเมื่อเราส่งจดหมายไปแล้ว เราก็ต้องทำตามนั้น

5:31 = ตีห้าครึ่ง ไม่ใช่ห้าโมงครึ่ง และแน่นอนว่าเช้าไปเรียนหนังสือต่อ

ทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกผิดอยู่เรื่องภาพมืด แต่มีอย่างนึงที่ประทับใจมากเป็นส่วนตัวคือ เราแจกสูจิบัตรให้ทีมงานกันคนละเล่ม และเกือบทุกคนก็แลกกันเซ็นต์เก็บไว้เป็นที่ระลึก (น่ารักมากกก owwo)

บัตรสตาฟ

บัตรสตาฟเป็นการอย่างนึงที่ติดกับผมมานานพอสมควร เพราะตั้งแต่งานแรกที่ผมเริ่มรับทำงานกราฟิคก็คือบัตรสตาฟนี่แหละ (Openhouse โรงเรียนเมื่อปี 2015) แล้วก็ลากยาวมาถึงละครวิพิธทัศนาของโรงเรียน

บัตรสตาฟผมตัดสินใจว่าอยากจะให้เป็นพิมพ์ชื่อทุกคน เพราะสำหรับผม บัตรสตาฟเป็นอะไรที่เป็นความทรงจำมาก ๆ ในดราฟแรก เราใช้เป็นชื่อตัวใหญ่แล้วตำแหน่งเล็ก ๆ อยู่ด้านล่าง แต่จากการประชุท เราก็กลับกัน ให้ตำแหน่งใหญ่แล้วชื่อเล็ก ด้วยจุดประสงค์ของบัตรสตาฟ ด้วยความที่ทีมงานเรายังไม่ได้เป็นโปรขนาดนั้น เราจึงตัดสินใจให้มีการกำหนด Access Area เป็นแถบสีอยู่ใต้บัตรด้วย

แต่งตั้งตัวเองเป็น Media Executive เพราะเป็นคนทำบัตรเองจะทำอะไรก็ได้ (555) แถบสีชมพูด้านล่างคือสีของ All Access (จริง ๆ มีตัว AA อยู่ด้านซ้ายแต่นิ้วโป้งบังอยู่) ส่วนแว่นด้านหน้าเป็นแว่นเก่าเราที่ให้ฝ่ายคอสตูมยืนไปเป็นแว่นของหมอก (พระเอก) ช่วงต้นเรื่องที่เป็น Loser (*Offended*)

การพิมพ์บัตรสตาฟเป็นงานที่รีบมากคือประมาณ 2–3 วันก่อนแสดงแค่นั้นเอง ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มเข้าไป Setup ที่ลิโด้กัน ตอนแรกเราจะสั่งโรงพิมพ์กันตามปกติซึ่งก็ต้องใช้เวลาเป็นหลักวัน แต่ด้วยความไฟลุกแล้วเราก็เลยใช้เงินแก้ปัญหาโดยการสั่งที่ร้านในสยามเลย (ซึ่งก็ค่อนข้างแพง)

นอกจากนั้น บัตรบางส่วนมีปัญหาในการพิมพ์รอบแรก (จากฝั่งเรา ใช้โลโก้ผิดอันมั้งถ้าจำไม่ผิด) ก็เลยต้องไปพิมพ์อีกรอบ รวมค่าเสียหายเกือบหลักพันบาทแต่ก็เป็นอะไรที่คุ้มสำหรับผมนะ

ดีใจที่เราได้พบกัน

Day 0

ตอนเช้าของวันพฤหัส ผมเปิดเข้าไปดูในเว็บ Ticket Melon แล้วก็พบว่า บัตรเราขายหมดเป็นที่เรียบร้อย

โพสต์ Sold Out จากใน Instagram เป็นภาพคู่หมอก ช่วง Loser (แว่นเรา หูฟังเรา me: *Offended*) กับฟ้า

งานแสดงเราจัดเย็นวันศุกร์ ​(25 มกราคม) — เสาร์ (26 มกราคม) ทำให้ Day 0 เป็นวันพฤหัส ซึ่งทีมงานฝั่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวันแสดงก็ลาเรียนกันตั้งแต่ประมาณวันอังคาร-พุธเพื่อเตรียมการการแสดง

มีเรื่องนอกเรื่องนึงที่อยากเล่าไว้ตรงนี้คือ สถานการณ์ช่วงนั้นคือตั้งแต่หลังหยุดปีใหม่ช่วงต้นปี ภายในเดือนมกราคมก็แทบไม่มีใครได้เรียนหนังสือจริง ๆ จัง ๆ แล้ว ภาพนึงที่เกิดขึ้นบ่อยฝังหัวมากคือฝ่ายประสานงานลุกออกจากห้องเรียนไปคุยกับสปอนเซอร์ นักแสดงและทีมงานที่เกี่ยวกับวันแสดงจะซ้อมกันทุกเย็น และตัวเองก็แบกคอมไปนั่งแก้งานทุกวัน เพราะก็จะมีงานใหม่ ๆ แปลก ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ เป็นอารมณ์ที่แปลกดีเพราะจริง ๆ มันเป็นช่วงที่โรงเรียนจะจัดสอบย่อยติด ๆ กันมาก ๆ รวมถึงอีกแค่ไม่ถึงเดือนโรงเรียนก็จะสอบ Final แล้วที่ปกติทุกคนจะตึงกันมากกับเรื่องเรียน

วันนั้นถึงไม่ได้มีประโยชน์อะไรด้วยเลย ก็แน่นอนว่าปุ๊บปั๊บไม่พลาดที่จะโดดเรียนไปสิงอยู่ลิโด้ด้วยเช่นกัน วันนี้เราเลยเหมือนไปเป็นเบ้ช่วยงานคนอื่น + คอยถ่ายภาพเบื้องหลังประกอบด้วย

Day I — Day 2 — Showtime

แบ็คดรอปมาส่งในตอนเช้า

เนื่องจากที่จริง ๆ แล้วงานส่วนใหญ่ของเราจะเป็น Asset ต่าง ๆ ที่จะใช้ก่อน/ในวันงาน รวมถึงก็ขอ Request ส่วนตัวไว้ว่าวันจริงขอไม่ถ่ายรูปนะ ทำให้ในวันงานก็ไม่ได้มีอะไรทำมากนัก หน้าที่ของเราในวันนี้คือเป็นคนคอยช่วยคุม Media อยู่ที่คอนโทรลรูมของโรงละคร

ช็อตจาก VTR เปิด

ซึ่งหลัก ๆ ก็มีแค่ช่วงก่อนเริ่ม-เปิดงาน ที่เป็นคนเปิดพวกโฆษณา Sponsor โลโก้ต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ จนถึง VTR เปิดตัวที่เป็นวิดิโอที่เรากับทีม Media ถ่าย Footage เก็บเอาไว้ในช่วง Day 0 (ซึ่งหลาย ๆ ช็อตชอบมาก ๆ จนไม่อยากเก็บไว้แค่ทำ Vlog — ทีระลึก) ก็เลยตัดสินใจตัดกันช่วงเช้าของ Day I เลยและใช้เปิดเป็น Intro ก่อนเข้าการแสดง ส่วนดนตรีประกอบก็ไปขอ (รบเร้า) คมชัด Music Director ของเราให้เล่นเปียโนท่อนนึงจากที่ใช้เป็น Background ในละครมาใช้เป็นดนตรีประกอบให้ และในช่วง Finale ที่เป็นสไลด์แนะนำแต่ละฝ่ายออกมาหน้าเวที

สิ่งที่เสียดายสองอย่างจากวันนี้คือ หนึ่ง ในตอนแรกเราจะเชิญสื่อมาทำ Content ด้วยแต่เราติดต่อช้าไป (ติดต่อไปแค่ประมาณช่วง 1 อาทิตย์ก่อนงาน) แต่สุดท้ายก็ไม่ทันการ อย่างที่สองคือเราไม่ได้จ้างทีมมาถ่ายวิดิโอการแสดงให้ดี ๆ (เป็นเรื่องที่ไม่ทันคิดมาก่อนด้วยซึ่งก็เพิ่งมานึกได้ในช่วงสามวันก่อนงาน) ทำให้วิดิโอที่ได้ไม่ได้มีคุณภาพสูงอย่างที่จะไม่เสียดายเมื่อเวลาผ่านไป กลายเป็นเพียงวิดิโอที่เห็นเวทีจากไกล ๆเท่านั้นเอง แต่สุดท้ายอะไรมันเกิดขึ้นมันก็เกิดขึ้นไปแล้วและสิ่งที่คงอยู่ก็คือความทรงจำถึงมันไม่ว่าจะดีหรือเลวร้ายก็ตาม

เราเอาละครมาลงไว้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=uwSv6poPMgo เผื่อใครสนใจมาดูนะ

สุดท้ายแล้วในวันนั้น ถึงเราจะเห็นละครที่เราเห็นมาเป็นร้อย ๆ รอบจากห้องคอนโทรลรูมเล็ก ๆ ไกล ๆ ที่ชั้นสองของ Lido Connect แต่เราก็ยังรู้สึกขนลุกอยู่เช่นเคยกับผลลัพท์ที่ออกมา มันเป็นเวลาหนึ่งปีครึ่งหลังจากที่เรากับปั๊นดูหนังรอบสุดท้ายที่ลิโดโรงสอง

มันเป็นเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังที่นักเรียนมัธยมเกือบร้อยชีวิตตัดสินใจสละเวลาของตัวเองมาทำโครงงานชิ้นใหญ่ที่ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ไม่กี่อาทิตย์ที่บท ฉาก กราฟิก เสียง แสง สี และองค์ประกอบทุกชิ้นของโครงงานชิ้นนี้ได้ก้าวออกมาจากความคิดของกลุ่มเด็กบ้า ๆ กลุ่มหนึ่งสู่โลกความเป็นจริง ไม่กี่วันหลังจากเราได้หัวเราะและร้องไห้กับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทุกอย่างนำมาสู่จุดนี้ ในห้องมืด ๆ เย็น ๆ ของลิโด้โรงสอง ที่ทุกอย่างที่เราสร้างมากำลังจะจบลงในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า

มันเป็นเวลาหนี่งปีครึ่งที่เปลี่ยนด้านที่เราอยู่ในโรงละครแห่งเดียวกัน จากที่นั่งผู้ชมไปสู่เวที

ราวกับเธอนั้นไม่เคยจากไปไหน
ยังคงยืนส่งยิ้มให้กำลังใจอยู่ในความทรงจำ

ฉากสุดท้ายของเรื่องนี้คือฉากร้องเพลงประสานเสียงเพลงกาลครั้งหนึ่งของแสตมป์ อภิวัฒน์ มันเป็นเรื่องตลกที่นอกจากมันบอกเล่าเรื่องราวในละครเล็ก ๆ ของเราแล้ว มันยังบอกเล่าเรื่องราวของเราที่สร้างละครเรื่องนี้ขึ้นมาด้วยเช่นกัน เรื่องราวของมันกลายเป็นละครอีกเรื่องหนึ่งที่จะมีเพียงเราเท่านั้นที่ได้เป็นผู้ชมในโรงละครที่เรียกว่าความทรงจำ

คืนสู่เหย้า

(ในความทรงจำ)

ก่อนที่ละครเรื่องนี้จะถูกจัดแสดง เพลงกาลครั้งหนึ่งเป็นเพลงที่ผมจะได้ยินบ่อยมากจากหมู่ทีมงานด้วยกัน แต่หลังจากวันสองวันนั้นในเดือนมกราคมปีที่แล้ว ผมแทบไม่ได้ยินมันอีกเลย มันไม่ได้เป็นเพราะทุกคนเกลียดมัน แต่มันเป็นเหมือนกุญแจวิเศษสักอย่างที่พาเราย้อนเวลากลับไปในอดีตได้ เป็นกุญแจที่ทุกคนเลือกที่จะไม่ใช้มันนอกจากในเวลาที่สำคัญ เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่เราอยากเก็บรักษามันไว้

ผมไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าในโลกความเป็นจริงของเรา ผู้สร้างละครเรื่องนี้หลายคน (รวมถึงผม) กำลังจะผ่านพ้นวัยมัธยมเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ทุกคนเติบโตขึ้น เรื่องราวมากมายเกิดขึ้นหลังจากละครของเรา และเรื่องราวจำนวนอีกมากมายยิ่งกว่ากำลังรอให้เราสร้างมัน

ตอนจบของละคร Forgotten เกิดขึ้นหลายปีหลังจากเหตุการณ์หลักในโรงเรียนมัธยมไมตรีมิตร ที่ตัวละครได้กลับมาพบกันในงานคืนสู้เหย้า ผมเชื่อว่าในอีกหลายปีข้างหน้าที่ทุกคนเดินทางออกไปตามเส้นทางของตัวเอง ซักวันหนึ่งเราจะได้เห็นวันนี้ที่ทุกคนได้กลับมาพร้อมหน้ากันเพื่อระลึกถึงความทรงจำเมื่อครั้งวันวาน เพียงแต่ครั้งนี้มันจะไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในละคร มันจะเกิดขึ้นในความเป็นจริง

หากชีวิตนี้เร็วดั่งความฝัน

กาลครั้งหนึ่ง — ดีใจนะที่เราพบกัน

--

--